ย้อนกลับไปซักยี่สิบปีก่อน ซักปี ค.ศ. 1997 ในยุคที่ธุรกิจดอทคอมกำลังเริ่มผลิดอกออกผล
จนกระทั่งเกิดฟองสบู่ดอทคอมในที่สุด ในราวปี ค.ศ. 2000 – 2002
ในยุคนั้นผู้คนกำลังตื่นเต้นกับการใช้งานอินเตอร์เน็ต
มีเว็บท่า (portal web) หลักๆที่คนทั่วโลกใช้งานกัน คือ yahoo.com
ส่วนในไทยภายหลังก็มีการริเริ่มเว็บ sanook.com
สำหรับผม ยุคนั้นคือจุดเริ่มต้นของสิ่งที่คนในยุคถัดมาเรียกกันว่า Freeconomy หรือ เศรษฐกิจแบบของฟรี
—
ในยุคนั้น ผู้คนตื่นเต้นกับการใช้งานอินเตอร์เน็ตได้แบบฟรีๆ
แน่นอน ถึงแม้จะมีค่าใช้จ่ายอยู่บ้างในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต
แต่เมื่อคุณเชื่อมต่อแล้ว ก็จะพบกับข้อมูล สาระ บันเทิง ที่สามารถเสพได้อย่างฟรีๆ
—
เชื่อหรือไม่ครับ ว่าอินเตอร์น็ท แท้จริงแล้วเกิดขึ้นมานานมากก่อนหน้านั้น
ตั้งช่วงแรกๆของ ทศวรรษ 60’s กันเลยทีเดียว
อินเตอร์เน็ตใช้เวลา 30 กว่าปี จากจุดเริ่มต้นที่เป็นการใช้งานภายในกลุ่มปิด
ในช่วงแรกๆนั้น รัฐบาลสหรัฐมีความคิดว่า อินเตอร์เน็ต ควรมีไว้เพื่อวัตถุประสงค์
ทางการข่าว ทางทหาร และการวิจัยขั้นสูง เท่านั้น
จึงมีการสงวนการใช้งานไว้เพียงเฉพาะกลุ่ม
ข้อโต้เถียงเรื่องสิทธิ์การใช้งานอินเตอร์เน็ต ดำเนินอยู่ยาวนาน
รวมถึงปัญหาที่ว่า ใครจะมีปัญญาจ่ายเงินให้กับค่าการใช้งานที่เกิดขึ้น
และ ใครจะเป็นคนลงทุนค่าโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้งานเหล่านั้น
—
จนกระทั่งในที่สุด AOL (American Online) ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตรายใหญ่ในยุคแรกๆ
สามารถเจรจาให้มีการใช้งานอินเตอร์เน็ตเชิงพาณิชย์ได้เป็นผลสำเร็จ
พร้อมกับการปล่อยออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกของสิ่งที่เรียกว่า Web Banner
โมเดล Freeconomy จึงถือกำเนิดขึ้นอย่างสมบูรณ์
—
จะว่าไปก็ไม่สมบูรณ์ซะทีเดียวหรอกครับ
ช่วงแรกนั้น คงต้องเรียกว่าเป็นโมเดลแบบ hybrid อยู่
คือผู้ที่ต้องการเข้าถึงคอนเทนต์ต่างๆใน AOL จะต้องเสียค่าสมาชิกรายเดือนหรือรายปี
ในขณะที่ AOL ก็หารายได้อีกทางโดยเก็บจากค่าโฆษณาจาก Web Banner มาช่วย
ในช่วงแรกนั้น มีการถกเถียงกันอย่างหนักภายใน AOL ถึงความเหมาะสมในการมี Banner
เพราะแน่นอนมันดูรกหูรกตา และทำให้ประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้แย่ลง
ทางฝ่ายธุรกิจก็เห็นถึงความจำเป็นในการมีรายได้เสริม
ในขณะที่ทางฝ่ายดีไซน์เกลียดแบนเนอร์พวกนี้เอามากๆ
—
แต่ภายหลังทุกอย่างก็เป็นไปตามครรลองของมันครับ
คนที่ต้องการลงโฆษณามีเยอะมาก
การแข่งขันให้บริการอินเตอร์เน็ตและคอนเทนต์ที่มีมากขึ้น
รายได้จากการโฆษณาที่มากขึ้นจึงถูกนำมาจุนเจือในการลดค่าธรรมเนียมสมาชิกลง
จนค่าสมาชิกกลายเป็นศูนย์ในที่สุด
และแน่นอนครับตอนนี้เรามีแบนเนอร์กระจายอยู่เต็มจอไปหมด
นั่นล่ะครับ Freeconomy จึงเกิดขึ้นอย่างแท้จริง
คอนเทนต์ต่างๆที่ผู้บริโภคเสพอยู่ตอนนี้คือของฟรีจากผู้ให้บริการ
ในขณะที่ผู้ให้บริการก็ได้รายได้จากค่าโฆษณา
ผู้โฆษณาก็หวังได้รายได้จากการซื้อสินค้าของผู้บริโภค
ลงตัวครับ เป็นโมเดลที่ Win-win-win ทั้งสามฝ่าย