คุณเคยได้ยิน หรือ ได้กินดอกเกลือมั้ยครับ ผมคนนึงล่ะ ไม่รู้จัก
เมื่อคืนผมได้อ่านบทความของลงทุนแมน เรื่อง “เกลือปรุงทิพย์ รายได้เท่าไหร่” ซึ่งเค้าให้ประวัติความเป็นมาของเกลือปรุงทิพย์
ผมอ่านเพลินๆจนจบ แล้วนึกอยากเล่าถึงเรื่องที่ได้ยินมาเมื่อซักสองเดือนก่อน
เรื่องของ เกลือของคุณกรณ์ จาติกวณิช เรื่องดอกเกลือ
ดอกเกลือ คืออะไร ต่างจากเกลือธรรมดายังไง ผมหาข้อมูลมา ได้ตามนนี้ว่า
ดอกเกลือ คือ เกลือที่ได้จากการทำนาเกลือ เหมือนเกลือทะเล แต่ต่างจากเกลือทะเลธรรมดา คือ
เกลือทะเลจะรอให้น้ำระเหยออกไปจนหมดแล้วตกผลึกเป็นเกลือตกอยู่บนพื้นนาเกลือ
ส่วนดอกเกลือจะเป็นจะเป็นเกลือชุดแรกที่ลอยตัวขึ้นมาเกาะตัวเป็นแพบนผิวน้ำ ซึ่งชาวนาเกลือจะช้อนเอามาเก็บไว้ก่อนที่มันจะจมกลับลงไปในน้ำ
ดอกเกลือจึงมีความบริสุทธิ์และรสดีกว่าเกลือทะเลธรรมดา
เรื่องมีอยู่ว่า คุณกรณ์ขับรถไปเที่ยวตากอากาศต่างจังหวัด ขับผ่านนาเกลือ อยากรู้ว่าเค้าทำอะไรกัน จึงลงไปดู และพูดคุยกับชาวบ้าน
พาลมองไปเห็นดอกเกลือที่ชาวบ้านตักออกมา เมื่อสอบถามเรื่องดอกเกลือกับชาวบ้านจึงพบว่าชาวบ้านรู้ ว่าควรเก็บดอกเกลือไว้ขายต่างหาก
แต่สิ่งที่ชาวบ้านไม่รู้ คือสิ่งที่คุณกรณ์รู้
เนื่องด้วยคุณกรณ์ อยู่ในสังคมที่เปิดออกสู่โลกภายนอกและสังคมชาวต่างชาติมาก
คุณกรณ์ รู้ทันทีว่า ดอกเกลือนี่คือ ของดี ที่ชาวต่างชาตินิยมนำมาใช้ปรุงอาหารตามภัตตาคารหรู
เกลือทั่วไปที่เราใช้ใส่อาหารกันทั่วไป นั้นเรียกว่า Table Salt ครับ เป็นเกลือ ทีได้จากพื้นดิน หรือ ที่เรียกกันว่า เกลือสินเธาว์
นี่คือเกลือปรุงทิพย์ ครับ เป็นเกลือที่อยู่ในระดับเบสิคที่สุดแล้วครับ
ส่วน เกลือทะเล ถ้าคุณไม่ไปซื้อมากจากนาเกลือสมุทรสาคร ก็ซื้อได้ในซุปเปอร์มาร์เก็ต เช่น ยี่ห้อ แมคคอร์มิค เป็นยี่ห้อนำเข้าครับ
รสชาติเกลือสินเธาว์จะเค็มโดดๆ ส่วนเกลือทะเลจะมีหวานกลมกล่อมกว่า
ส่วนดอกเกลือนี่ถือว่าบริสุทธิ์และรสดีขึ้นไปอีก
ลองไปดูที่ขายในร้าน ดีน แอนด์ เดลูก้า ซึ่งเป็นร้านอาหารจากนิวยอร์คที่มาเปิดสาขาในไทยสิครับ
ดอกเกลือที่นี่ ถ้าจัดเป็นเซ็ท สี่ กระปุกเล็กๆรวมกัน ก็ประมาณสองพันบาทครับ สำหรับปริมาณรวม หกร้อยกรัม
เล่ามาตั้งนาน ผมแค่จะชี้ให้เห็นว่า คนประเทศเราขาดความรู้ความสามารถอย่างที่คุณกรณ์มี
สิ่งที่ผมได้ยินมาว่าคุณกรณ์จะทำ หรืออาจทำไปแล้ว คือ รับซื้อดอกเกลือ จากชาวบ้าน แล้วเอาไปทำแพคเกจจิ้ง
ส่งออกขายต่างประเทศ ซึ่งให้ราคาดอกเกลือ ในราคาที่สูงมาก
สิ่งที่คนไทยทั่วไปยังทำไม่ได้อย่างคุณกรณ์ คือสองเรื่องสำคัญครับ
หนึ่ง คือ การมองเห็นโอกาส
สอง คือ value adding คือ การเพิ่มมูลค่า
เรื่องมองเห็นโอกาสนี่ขึ้นอยู่กับหลายอย่างครับ สำหรับบางคน มันเป็นสัญชาติญาณเลยทีเดียว
แต่เรื่อง การเพิ่มมูลค่า นี่น่าสนใจครับ
คุณกรณ์เพิ่มมูลค่าจากดอกเกลือที่ชาวบ้านโกยกองๆไว้ นำมาใส่กระปุกสวยๆ และทำตลาดต่างประเทศ
แค่นี้ มูลค่าก็เพิ่มมหาศาลแล้วครับ
เรื่องการเพิ่มมูลค่านี่ต้องหันมาใส่ใจกันในระดับประเทศครับ
ไกด์ที่นำทัวร์ผมตอนไปเที่ยวไต้หวัน เล่าให้ฟังว่า ไต้หวันเป็นประเทศที่เหมาะแก่การปลูกสัปปะรดอย่างมาก
เหมาะมาก คนเลยปลูกกันมาก ปลูกกันมาก เลยเป็นปัญหา
สินค้าเกษตร นี่ มีความน่าสนใจอย่างนึง คือ ถ้าเราวาดกราฟ demand หรือ ความต้องการซื้อ ในแกนตั้ง และให้แกนนอนเป็นเวลา
ขณะที่ demand มันวิ่งเป็นเส้นเฉียงขึ้น เพราะความต้องการผักหรือผลไม้นั้นเติบโตอย่างคงที่ตามความนิยม
supply หรือ ปริมาณที่มีสำหรับขาย มันจะวิ่งขึ้นเป็นขั้นบันไดขึ้นๆลงๆไปมา
คือมันขึ้นกับฤดูกาลเก็บเกี่ยว และระยะเวลาที่ใช้ในการเพาะปลูกครับ
คุณเห็นวันนี้ว่า มีความต้องการต้นปาล์มมาก คุณก็เริ่มปลูก เพื่อนๆคุณก็เห็นและปลูกเช่นกันครับ
แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยให้ช่องว่างระหว่าง demand กับ supply แคบลง เพราะทั้งคุณและเพื่อนๆยังไม่มีผลผลิตในทันที
ราคาปาล์มจึงยังคงถีบตัวขึ้นเรื่อยๆ
กว่าคุณทั้งสองจะเก็บเกี่ยวปาล์มได้ ก็ผ่านไปอีกหลายปี ถึงตอนนั้นแม้ demand ยังคงสูง
แต่พอผลผลิตคุณและเพื่อนๆอีกหลายคนออกมาพร้อมๆกัน
ปาล์มล้นตลาด
ราคาดิ่งลงทันที
เลิกปลูก
ปาล์มขาดตลาด
ราคาขึ้น
แห่กันปลูก
มันก็จะวนๆ ขำๆ นิดนึงครับ แต่ปัญหานี้สำหรับประเทศที่เน้นเกษตรกรรม ไม่ขำครับ
ที่ไต้หวัน เพื่อที่จะหยุดวงจรนี้ รัฐบาลไต้หวัน แก้ปัญหาผลผลิตและราคาสัปปะรดที่ผันผวน เหมือน ที่ไทยทำกับข้าวของเราครับ
กำหนราคาซื้อ และ รับซื้อซะเลย ราคาจะได้ไม่ตก ก็หยุดวงจรนี้ไปได้ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่น่าสนใจครับ
ที่น่าสนใจ คือ สิ่งที่เค้าทำต่อ แต่เราไม่ได้ทำ
รัฐบาลไต้หวัน จัดโครงการระดับประเทศเพื่อประกวดวิธีการแปรรูปสัปปะรด ใครทำสินค้าแปรรูปสัปปะรดออกมาได้เจ๋งสุด รับรางวัลไป
และนั่นคือต้นกำเนิด พายสัปปะรดไต้หวัน ที่ชนะเลิศจากการแข่งขัน สินค้าที่ชาวต่างชาติต้องซื้อเมื่อไปเยือน
นี่คือไต้หวันนำวิธีการเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูป เข้ามาแก้ปัญหาราคาสัปปะรดตกต่ำผันผวน ซึ่งเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ
แล้ว ทางการตลาดล่ะ การเพิ่มมูลค่า มีผลอย่างไร
จาก สัปปะรด กลายเป็น พายสัปปะรด
จาก ดอกเกลือเป็นกองๆตามพื้นนาเกลือ กลายเป็น ดอกเกลือบรรจุขวดสวยงามขายในร้านหรู เพื่อใช้ในภัตตาคารยุโรป
จาก เศษคางกุ้งหรือหัวกุ้งทิ้งเรี่ยราด กลายเป็น คางกุ้งทอดบรรจุซองแบบขนมกรอบ
จาก ชมพู่ อารยา นางเอกละครเรื่องที่ไม่มีใครจำชื่อได้ ฉายตอนบ่ายช่องเก้า อสมท เมื่อครั้งเข้าสู่วงการ กลายเป็น ซุปตาร์ช่องสาม @chomismaterialgirl
จะเห็นว่า การเพิ่มมูลค่าที่ประสบความสำเร็จจับต้องได้ ไม่ใช่แค่การปรับปรุงคุณภาพของสินค้าเล็กน้อย แล้วขายแพงขึ้นได้อีกนิดหน่อย
ไม่ใช่การเติมกุ้งแห้งเข้าไปในน้ำปลาหวานอีกนิด แล้วขายแพงขึ้นอีกหน่อย
อย่างนั้นผมว่าไม่เรียก เพิ่มมูลค่าครับ เรียกว่า เพิ่มกุ้งแห้ง
การเพิ่มมูลค่าอย่างมีนัยยะ เป็นการ เปลี่ยนสินค้าไปเลย เข้าสู้ตลาดใหม่เลย
ถึงแม้วัตถุหลักที่ใช้ในการผลิต จะยังคงเหมือนเดิม แต่เมื่อวัตถุประสงค์ในการใช้งานเปลี่ยนไป
เหมือนคุณเอา น๊อต และ ไม้กระดานเก่าจากเรือทีซุส ไปประกอบเป็นคฤหาสน์หรูหลังใหม่ มันจึงไม่เป็นเรือทีซุสอีกต่อไป (อ่านเรื่องปริศนาเรือทีซุสได้ที่นี่)
หากแต่เป็นสินค้าใหม่ ที่มี ผู้ซื้อใหม่ คู่แข่งใหม่ positioningใหม่ กลยุทธ์ใหม่ ราคาใหม่ ในตลาดใหม่
และแน่นอน มันควรเป็นตลาดที่ดีสำหรับคุณมากกว่าเดิม ไม่งั้นจะทำไปทำไม
แน่นอน ชมพู่ต้องได้มากกว่าเสีย ในการ add value จากการเป็นนางเอกช่องเก้า มาเป็น ช่องเจ็ด และ กลายเป็นตัวแม่ที่ช่องสาม ตามลำดับ
และแน่นอน ชมพู่ตอนนี้กับตอนนั้น ไม่ใช่เหมือนกันอีกต่อไป
บทความนี้ เริ่มจาก เกลือ ไป สัปปะรด ผ่านกุ้งแห้ง และ มาจบที่ชมพู่
คงต้องขอจิ้มกินซักหน่อยล่ะครับ
หมายเหตุ เรื่องของคุณกรณ์ และเรื่องของสัปปะรดไต้หวัน เป็นเรื่องที่มีคนเล่าให้ผมฟัง ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง เพราะผู้เล่าไม่มีเหตุจูงใจให้โกหก อย่างไรก็ตามหากรายละเอียดอันใดผิดเพี้ยนไป ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ครับ