การเข้าโรงเรียน กับ ลูกบอลหิมะ
ผมได้อ่านบทความเรื่อง โรงเรียนอินเตอร์ ของลงทุนแมน
เลยบันดาลใจให้อยากเขียน เรื่องการศึกษา ซักครั้งนึง
ซึ่งเรื่องที่จะเขียนนี้เป็นพื้นฐานการตลาด
และเป็นเรื่องของตัวผมครับ
—
ผมจำผลการเรียนในช่วงอนุบาลไม่ได้แล้ว
ผมคงเด็กเกินไปที่จะจำ
ผมเข้าเรียนเร็วกว่าเกณฑ์มาตรฐานเกือบปี
เหตุเพราะสมัยนั้นพ่อแม่ยังลำบาก พ่อทำงาน แม่ต้องเลี้ยงน้องอีกสองคน
ผมจึงเข้าเรียน
—
พอขึ้นประถม โรงเรียนมีการจัดแบ่งห้อง ตามระดับผลการเรียนของเด็ก
ซึ่งจะจัดห้องกันใหม่ทุกปี ห้องหก เก่งสุด ห้องหนึ่งห่วยสุด
จากอนุบาลขึ้นมา ป.หนึ่ง ผมอยู่ห้องสาม
พอมา ป.สาม ผมอยู่ห้องหนี่ง
พัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กอื่นๆในชั้นปีเดียวกัน เริ่มเห็นได้ชัดตอน ป.สาม เทอมหนึ่ง
ผมเชื่อว่า ป.สาม เทอมหนึ่ง คือผลเชิงประจักษ์ ของเหตุ ซึ่งคือการเข้าเรียนเร็วไป “หนึ่งปี” ตอนอนุบาล
—
หนังสือชื่อ Outlier ของ Malcomm Gladwell นักเขียนชื่อดังจากนิวยอร์ค
ได้มีการอธิบายถึงสาเหตุว่า ทำไมบางคนจึงประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าคนอื่นๆ ในเจเนอเรชั่นเดียวกัน
คุณเชื่อหรือไม่ว่าคนที่เกิดห่างกันเพียงสองสามปีในยุคเดียวกัน คนนึงจะกลายเป็นคนรวยที่สุดในโลกได้ ในขณะที่อีกคนมีได้แค่ชีวิตธรรมดา
—
ตอนปี 1968 หนูน้อย บิล เกตส์ ได้มีโอกาสสัมผัสและใช้คอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรก
ในสมัยนั้นคอมพิวเตอร์ไม่ได้มีมากมายเหมือนตอนนี้
เค้าเป็นคนโชคดี ที่เข้าถึงสิ่งที่จะเปลี่ยนโลกในเวลาต่อมาได้ก่อนใคร เค้าอยู่ในที่ที่เหมาะสม ในเวลาที่เหมาะสม
—
ผมมีคุณอาผู้ชายสองคน คนนึงทำงานหน้าคอมใช้ เอ็กเซล ทำงาน ใช้อินเตอร์เน็ทหาข้อมูลตลอด
อีกคนแทบใช้งานคอมพิวเตอร์ ไม่ได้เลย สองคนนี้อายุห่างกันปีเดียว
คนนึงได้เริ่มเรียนคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัย อีกคนจบออกมาก่อนที่มหาลัยจะมีคอมพิวเตอร์
—
ความสามารถทางด้านคอมพิวเตอร์ที่แตกต่างกันของคุณอาทั้งสอง
ไม่ได้ประจักษ์เห็นได้ในทันที จนเมื่อเวลาผ่านไปหลายปี
คนนึงจากแค่ใช้งูๆปลาๆ เริ่มเรียนรู้มากขึ้น เริ่มสนุกกับมัน เรียนรู้มากขึ้นอีก จนใช้มันเป็นอาชีพ
อีกคน ออกจะแนวๆ เกลียด เลยด้วยซ้ำ
นี่คือ สิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า Snow ball effect กล่าวคือ ลูกบอลหิมะที่กลิ้งลงมาจากเขาหิมะ
มันจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะหิมะใหม่จะเข้าไปเกาะเสริมเติมเข้าไปบนลูกบอลหิมะนั้น
จากจุดเริ่มต้นที่เกิดห่างกันเพียงปีเดียว
กลายเป็นความแตกต่างอย่างมากเรื่องทักษะคอมพิวเตอร์
จากความแตกต่างเรื่องทักษะคอมพิวเตอร์
กลายเป็นความต่างเรื่องไลฟ์ไสตล์และแนวการทำงานอื่นๆในเวลาต่อมา
—
ในการคัดเลือก ทีมบาสเก็ตบอล เยาวชน รุ่นเล็ก
เด็กที่ได้รับคัดเลือกจากชั้นปีหนึ่งๆ มักจะเป็นเด็กที่ตัวสูงใหญ่กว่าเด็กคนอื่นๆในชั้นปีเดียวกัน
เด็กที่เข้าเรียนเร็วกว่ากำหนดไปหนึ่งปี จะตัวเล็กสุด เงอะงะที่สุด
และแน่นอนไม่ผ่านการคัดเลือก แม้ว่าเค้าจะรักบาสเก็ตบอลแค่ไหนก็ตาม
เด็กที่เข้าเรียนช้าโดยเปรียบเทียบ จะตัวใหญ่กว่า เล่นเก่งกว่า
และมักได้รับคัดเลือกเข้าทีมเยาวชนรุ่นเล็ก
ในทีมเยาวชนรุ่นเล็ก เด็กที่อายุมากกว่า ตัวใหญ่กว่า จะได้รับการจับตามองจากโค้ช
และได้รับฝึกฝนมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นความหวังของทีม
Malcomm Gladwell ศึกษาเรื่องนี้แล้วพบว่า นักบาสเก็ตบอล NBA ส่วนใหญ่เกิดในเดือนเดียวกัน
และเป็นเดือนสุดท้ายที่โรงเรียนยังรับเด็กที่เกิดเดือนนี้เข้าเรียนถึงแม้จะมีอายุมากพอที่อาจจะเข้าเรียนในชั้นสูงกว่าได้ก็ตาม
—
ผมจำผลการเรียนในช่วงอนุบาลไม่ได้แล้ว
ผมเด็กเกินไปที่จะจำ
ชีวิตของผมช่วงนั้น ก็คงเป็นเหมือน มุมกลับ ของ เรื่องนักบาสเก็ตบอลที่ได้คัดเลือก
มัน Snowball effect
ผมเชื่อว่า ป.สาม เทอมหนึ่ง คือผลเชิงประจักษ์ ของเหตุ ซึ่งคือการเข้าเรียน “เร็วไป” หนึ่งปีตอนอนุบาล
—
ขอบคุณครับที่อ่านมาถึงตรงนี้ นี่คือย่อหน้าสุดท้าย
ใช่ นี่คือเรื่องของผม ใช่ นี่คือเรื่องการศึกษา แล้วไหนล่ะเรื่องการตลาด
ครับ บทความด้านบนเป็น ตอนที่หนึ่งในซีรีย์นี้ ผมสัญญา การตลาดมาแน่ครับ
สำหรับใครที่กำลังจะส่งลูกเข้าเรียน หรือ ใครที่สนใจเรื่องการตลาด กรุณา ติดตามกันต่อไปครับ
อ้อ สำหรับใครที่อยากรู้ว่าโรงเรียนอินเตอร์ รายได้เท่าไหร่ กำไรเท่าไหร่ เชิญที่ ลงทุนแมน http://longtunman.com/2454 เลยครับ