คุณควรส่งลูกเรียนโรงเรียน ไทย อินเตอร์ หรือ เมืองนอก
ประมาณช่วงปี 1970 มาสโลได้เพิ่มเติมทฤษฎีเดิมของเขา จากความต้องการ 5 ขั้น เป็น 8 ขั้น
(อ่านความต้องการของมนุษย์ 5 ขั้นของ มาสโล ได้ที่นี่)
โดยมี 3 ขั้นที่เพิ่มมาคือ Cognitive needs และ Aesthetic needs และ Transcendence needs
รวมแล้วจึงเป็นความต้องการแปดขั้นดังนี้ครับ

ขั้นที่ 1 Physiological needs: ความต้องการทางกายภาพ เช่น อาหาร น้ำ ความอบอุ่น การพักผ่อน
ขั้นที่ 2 Safety needs: ความต้องการเรื่องความปลอดภัย เช่น ปลอดภัยจากอันตราย จากโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งข้อนี้หมายรวมถึง ความต้องการความมั่นคงจากการมีงาน มีเงิน ด้วย
ขั้นที่ 3 Belongingness and love needs: ความต้องการได้รับความรัก ได้รับการยอมรับ เป็นส่วนร่วม เช่น ความสัมพันธ์ของคู่รัก หรือ กลุ่มเพื่อน
ขั้นที่ 4 Esteem needs: ความต้องการการยกย่อง ทั้งจากตนเองและ ผู้อื่น เช่น การมีเกียรติ ความรู้สึกประสบความสำเร็จ
ขั้นที่ 5 Cognitive needs: ความต้องการเกี่ยวกับความรู้ หรือ การคิด เช่น ความรู้ ความอยากรู้อยากเข้าใจในเรื่องต่างๆ การสำรวจต่างๆ
ขั้นที่ 6 Aesthetic needs: ความต้องการทางด้านสุนทรียศาสาตร์ เช่น การชื่นชมในความงาม ศิลปะ
ขั้นที่ 7 Self-actualization needs: ความต้องการในการตระหนักรู้ถึงตนเอง เช่น ได้รู้ว่า เราจะเป็น จะทำ ได้ดีที่สุดแค่ไหน
ขั้นที่ 8: Transcendence needs: ความต้องการที่จะช่วยผู้อื่นให้ตระนักรู้ถึงศักยภาพสูงสุดของเค้า
—-
ตอน ป.สามเทอมหนึ่ง ผมนั่งเหม่อลอยออกนอกห้อง ในขณะเรียน
ตอน ป.สอง ป.หนึ่ง ที่จำได้คือ ผมนั่งเรียนชั่วโมงพิเศษทุกเย็นที่โรงเรียน
ตอน อนุบาล อย่างที่บอก คือจำไม่ค่อยได้ แต่ที่จำได้คือ ขึ้นรถโรงเรียน กลับบ้านในทันทีหลังเลิกเรียน
ผมไม่เคยได้เล่นกับเพื่อนมากนัก ในช่วงวัยนั้น ไปโรงเรียน เรียน แล้ว กลับบ้าน
—
จากการได้รู้ถึงทฤษฎีของมาสโล ทั้งแปดขั้น ผมจึงทำความเข้าใจ สิ่งที่เกิดขึ้น
ผมไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับชั้นเรียนและเพื่อน ผมถึงเหม่อลอยออกนอกห้อง
ผมไม่ถูกกระตุ้นโดย ความต้องการขั้นที่ 5 Cognitive needs ไม่รู้สึกอยากเรียน ถึงแม้ผมจะนั่งเรียนพิเศษก็ตาม
ความต้องการการยอมรับ(ขั้นที่3) ของผมมันกลืนกินความต้องการขั้น สี่ ห้า หก
หรือ ขั้นอะไรก็ตามหลังจากนั้นไปหมดแล้ว
—
แต่ทันทีที่ ครูรัตนา ตีผมด้วยไม้เรียว หน้าชั้นเรียน และ เชิญแม่มาที่โรงเรียน
ความต้องการขั้นสองของผมถูกปลุกขึ้นมาทันที ผมรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคง
และนั่น แย่ยิ่งกว่าการไม่ได้รับการตอบสนองในความต้องการขั้นสามเป็นไหนๆ
—-
ครูรัตนาดีใจมาก
ผมสอบได้ที่สามของห้อง ในเทอมถัดมา หลังจากที่แม่โดนเชิญไปพบ
ความพยายามของ “แม่” ในการติวหนังสือให้ผมนั้นประสบความสำเร็จ
ความสำเร็จในครั้งนี้ กลับกลาย เป็น การตอบสนองความต้องการของผมในหลายๆขั้นไปพร้อมๆกัน
หนึ่ง ผมรู้สึกปลอดภัย
สอง ผมรู้สึกได้รับการยอมรับ ไม่ใช่เพียงจากครูรัตนา
แต่ผมกลายเป็นมีตัวมีตนขึ้นมา เพื่อนๆเริ่มมองเห็นผม
ในฐานะ สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ที่พุ่งแซงขึ้นไปสอบได้ที่สามของชั้นเรียน จากที่เคยอยู่เกือบโหล่
อย่างน้อย ก็ยังมีตัวตนล่ะวะ
สาม ผมรู้สึกภูมิใจในตัวเอง ที่ทำได้ และที่ทำ ให้แม่และพ่อภูมิใจ
บรรลุ สาม ขั้น ในหมัดเดียวครับ
—
Maslow’s Hierarchy of needs อธิบายชีวิตในวัยเด็กผมได้
ผมเชื่อว่ามันก็จะอธิบาย ชีวิต ความต้องการ ความรู้สึกของเด็กคนอื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน
—
นอกจากเรื่อง ลูกบอลหิมะ แล้ว
ขอให้คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย คิดทบทวนเรื่องของ มาสโล นี้ให้ดีก่อนส่งลูกไปเรียน อินเตอร์ หรือ เมืองนอก หรือ โรงเรียนไทย
ผมโชคดีที่แม่ผมพลิกสถานการณ์ หยุดลูกบอลหิมะที่กำลังกลิ้งลงไว้ได้ทัน กราบขอบพระคุณคุณแม่ผมครับ
—
ไทย อินเตอร์ เมืองนอก ผมในฐานะคนไม่มีลูก ขอยกให้พ่อแม่ที่มีลูกคิดกันเอาเองแล้วกันครับ
ถ้าว่ากันตาม Maslow คุณก็เลือกยังไงก็ได้ที่
- ลูกของคุณต้องไม่หิว
- ต้องปลอดภัย
- ได้รับการยอมรับจากเพื่อนและครู
- รู้สึกภูมิใจในตนเอง
- จากนั้นจะเกิดความอยากรู้ อยากเรียน
- และตามมาด้วยความสนใจชื่นชอบเสพศิลป์
- เค้าจึงจะแสวงหาเพื่อตระหนักรู้ถึงจุดสูงสุดของความเป็นตัวเอง
- และเค้าจะช่วยเหลือผู้อื่นให้ตระหนักรู้ในแบบเดียวกับที่เค้าทำได้
ถ้าความต้องการข้อก่อนหน้าไม่ได้รับการตอบสนอง มันจะโดดเด่นขึ้นมากลบลบเลือนความต้องการข้อหลังๆทันที
—
อ้อ! สำหรับคนที่สนใจเรื่อง ลูกบอลหิมะที่ผมพูดถึง มันมีผลยังไงกับการศึกษา (เชิญอ่านตอนเก่าได้ที่นี่ครับ )
—
อ้อสอง! ผมไม่แน่ใจนะ ว่าปัจจุบันเป็นยังไง แต่ผมว่า
คนจะเป็นครูโดยเฉพาะครูเด็กเล็ก ควรเรียนจบจิตวิทยาเด็กมาครับ
และเค้าควรได้ค่าตอบแทนที่สูง ควรค่าแก่สิ่งที่เค้าได้มอบให้กับเด็กๆ อนาคตของชาติครับ
—
อ้อสาม! ลืมบอกไปครับ หลังจากสอบได้ที่สามของ ป.สามทับหนึ่ง (ห้องโหล่ จากทั้งหมด หกห้อง)
พอ ป.สี่ ผมก็ยังอยู่ทับหนึ่งเหมือนเดิมครับ แต่เทอมหนึ่งผมได้ที่สอง และเทอมสองผมได้ที่หนึ่ง
จากนั้น ป.ห้า และ ป.หก จึงได้ย้ายไปอยู่ห้องหก ซึ่งเป็นห้องเก่งสุดครับ
หลังจากบรรลุ ขั้นต่างๆด้านล่างแล้ว เหมือนกับว่า
ความต้องการเรียนรู้ของผมมันก็เริ่มทำงาน ตั้งแต่ ป.สี่ เป็นต้นมา
ต้องขอบคุณคุณ “แม่” ที่ดูแลผมอย่างดีที่สุด
—
อ้อสี่! หมายเหตุ ผมไม่ได้มีดีกรีเป็นนักจิตวิทยาเด็ก หรือแม้กระทั่งนักจิตวิทยาผู้ใหญ่ ใดๆทั้งสิ้น
ผมเป็นนักการตลาด! บทความนี้เป็นการนำความรู้การตลาดมาผสมผสานวิเคราะห์เรื่องในวัยเด็กของตนเองเท่านั้น
หากผิดพลาดจากหลักจิตวิทยาที่แท้จริงประการใด ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
และขอผู้อ่านจงเสพอย่างมีสติพร้อมด้วยปัญญาของท่านเองครับ
—
อ้อสุดท้าย! สำหรับใครที่ตามกันมาตั้งแต่แรก คงถามว่า “ไหนว่าจะพูดเรื่องการตลาด”
ผมขอยืนยันครับว่า “เรื่องมาสโล เป็นเรื่องการตลาด” ตามสัญญาครับ งวดหน้ามาแน่นอน
Credit: https://www.simplypsychology.org/maslow.html