ชีวิตการศึกษา กับ Maslow’s Hierarchy of Needs
เผียะ เผียะ เผียะ !!! เสียงไม้เรียวดังกระทบก้นของเด็กน้อย
พัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กอื่นๆในชั้นปีเดียวกัน เริ่มเห็นได้ชัดตอน ป.สาม เทอมหนึ่ง
คุณแม่ถูกเชิญมาพบครู
—
ครูรัตนา บอกคุณแม่ว่า ผมลายมือแย่มาก คะแนนห่วยทุกวิชา
ที่สำคัญคือชอบนั่งเหม่อลอยออกไปนอกห้อง แม้กระทั่งขณะเรียนอยู่
Snowball effect เริ่มเล่นงานผมแล้ว และลูกบอลหิมะจะยังคงกลิ้งต่อไป ถ้าคุณแม่ไม่มาหยุดไว้
(อ่านเรื่องตอนที่แล้ว Snowball effect ได้ทีนี่ครับ https://www.facebook.com/wanat.club/posts/1484474798284841)
—
นี่คือที่มาของการติวเข้มโดยคุณแม่ ทั้งเลข ภาษาไทย อังกฤษ ทุกวิชานั่นแหละ
และในที่สุดผมและคุณแม่ก็ทำได้
ตอน ป.สาม เทอมหนึ่ง ผมได้ที่สามจากท้าย
แต่หลังความพยายามของคุณแม่และผม
ผมได้ที่สามนับจากที่หนึ่ง ในหนึ่งเทอมถัดไป
ครูรัตนาดีใจมาก
—
ตอน ป.สามเทอมหนึ่ง ผมนั่งเหม่อลอยออกนอกห้อง ในขณะเรียน
ตอน ป.สอง ป.หนึ่ง ที่จำได้คือ ผมนั่งเรียนชั่วโมงพิเศษทุกเย็นที่โรงเรียน เพื่อรอคุณพ่อมารับหลังท่านเสร็จงาน
ตอน อนุบาล อย่างที่บอก คือจำไม่ค่อยได้ แต่ที่จำได้คือ ขึ้นรถโรงเรียน กลับบ้านในทันทีหลังเลิกเรียน เพราะท่านไม่มีเวลามารับ
ผมไม่เคยได้เล่นกับเพื่อนมากนัก ในช่วงวัยนั้น ไปโรงเรียน เรียน แล้ว กลับบ้าน
—
คุณสงสัยมั้ย ผมเรียนอย่างเดียว แถมยังเรียนพิเศษ ทำไมยังได้ที่สามจากท้าย
ผมขอให้ Maslow มาอธิบายแล้วกันครับ
—
Abraham Harold Maslow เป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ที่คิดค้นทฤษฎีทางจิตวิทยาชื่อ Maslow’s Hierarchy of Needs
หรือ แปลไทยว่า ทฤษฎีลำดับชั้นของความต้องการของมนุษย์
ทฤษฎีของมาสโล แบ่งออก เป็นสองช่วง ช่วงแรกคือตอนปี 1943 เค้าแบ่งความต้องการของมนุษย์ออกเป็น 5 ขั้น
หลังจากนั้นประมาณ ปี 1970 เค้าเพิ่มเติมอีก 3 ขั้นเข้าไปในทฤษฎีเดิม รวมเป็น ความต้องการ 8 ขั้นของมนุษย์
มาดูอันง่ายก่อนครับ อัน 5 ขั้น

ขั้นที่ 1 Physiological needs: ความต้องการทางกายภาพ เช่น อาหาร น้ำ ความอบอุ่น การพักผ่อน
ขั้นที่ 2 Safety needs: ความต้องการเรื่องความปลอดภัย เช่น ปลอดภัยจากอันตราย จากโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งข้อนี้หมายรวมถึง ความต้องการความมั่นคงจากการมีงาน มีเงิน ด้วย
ขั้นที่ 3 Belongingness and love needs: ความต้องการได้รับความรัก ได้รับการยอมรับ เป็นส่วนร่วม เช่น ความสัมพันธ์ของคู่รัก หรือ กลุ่มเพื่อน
ขั้นที่ 4 Esteem needs: ความต้องการการยกย่อง ทั้งจากตนเองและ ผู้อื่น เช่น การมีเกียรติ ความรู้สึกประสบความสำเร็จ
ขั้นที่ 5 Self-actualization needs: ความต้องการในการตระหนักรู้ถึงตนเอง เช่น ได้รู้ว่า เราจะเป็น จะทำ ได้ดีที่สุดแค่ไหน
—
ทฤษฎีของมาสโล ไม่ได้เด็ดที่ตรงการแบ่งนี้ครับ แต่มันเด็ดตรงที่เค้าบอกว่า
มนุษย์ถูกกระตุ้นโดยความต้องการ โดยความต้องการบางแบบมาก่อนบางแบบ (หมายถึง 1 และ 2 มาก่อน 3 และ 4 เป็นต้น)
ความต้องการพื้นฐานที่สุดคือ ความต้องการอยู่รอดทางกายภาพ นี่คือสิ่งแรกที่กระตุ้นเรา
เมื่อความต้องการนี้ถูกตอบสนองจนเป็นที่พอใจแล้ว ความต้องการในลำดับถัดไปก็จะกระตุ้นเราต่อไป
—
ผมเข้าใจว่า มาสโล ไม่ได้สื่อความหมายว่ามันเป็นขั้นบันได ที่จะต้องขึ้นไปทีละขั้น
ในขณะหนึ่งๆ ในคนๆหนึ่ง อาจมีความต้องการได้รับการยอมรับ (3) ต้องการได้รับการยกย่อง (4) ไปพร้อมๆกันก็ได้
แต่ความหมายของ มาสโล คือ “ถ้าคนๆนั้น ยังได้รับการตอบสนองในข้อก่อนหน้าไม่เพียงพอ ความต้องการข้อก่อนหน้า จะมีความเด่นชัด กว่าข้อหลังๆ และจะเป็นควาต้องการหลักที่กระตุ้นเราในช่วงขณะนั้น”
—
ผมนึกถึงตัวอย่างจากหนัง ที่เคยดู เมื่อตอนเด็ก เป็นเรื่องราว ของ กลุ่มคนที่ไปปีนเทือกเขาสูง และเจอพายุหิมะ ติดอยู่ในถ้ำด้วยก้น
ท้ายที่สุด พวกเขาก็เริ่มกินเนื้อของคนที่ตายไปก่อนหน้า
เมื่อความต้องการมีชีวิตรอดทางกายภาพ หรือ ความหิว เข้าครอบงำ ความต้องการ การยอมรับ การยกย่อง แม้จะยังมีอยู่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป
—
แล้ว ไอ้ทฤษฎี ที่เล่ามานี้ มันอธิบาย เรื่องการศึกษาวัยเด็กของผมยังไง มันยังไม่อธิบายครับ
จนกว่า คุณจะทนฟังผมเล่า ส่วนขยายของมัน ในบทความอันต่อไป
แล้วเรื่องการตลาดที่สัญญาไว้ล่ะ
อาจารย์การตลาดคนแรกในชีวิตของผม บอกไว้ว่า
“ถ้าคุณไม่ได้อะไรจากห้องเรียนนี้เลย ขอให้คุณเข้าใจแค่เรื่องเดียว คือ Maslow’s Hierarchy of needs”
สิ่งนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการตลาดครับ
ดังนั้น เรื่องการตลาดมาแน่นอนครับ ใจเย็นๆ
Credit: https://www.simplypsychology.org/maslow.html