เชื่อว่า พวกเราหลายๆคนคงเคยผ่านการสัมภาษณ์งานกันมาบ้าง ไม่มากก็น้อย
เชื่อว่า คุณคงเคยเจอกับคำถามสามัญประจำบ้านของผู้สัมภาษณ์ และเป็นคำถามไม้ตาย
เป็นคำถามที่ตอบง่าย แต่ตอบยาก
ที่ว่าตอบง่าย คือ ตอบแบบอัตโนมัติตามความเป็นจริง คิดยังไง ตอบไปอย่างงั้น
ที่ว่าตอบยาก คือ ตอบอย่างไรให้ดูดี เพราะความจริงมักไม่ดูดีเสมอไป
คำถามที่ผมกล่าวถึง คือ “อะไรคือจุดแข็ง และ จุดอ่อน ของคุณ”
ถ้าให้พูดถึงจุดแข็งหรือข้อดีของตัวเอง หลายคนสามารถพูดได้ไม่รู้จบ
พร้อมยกตัวอย่างมาประกอบการบรรยาย ได้คณานับ
—
แต่พอถามถึงจุดอ่อน หลายคนอึกๆอักๆ
หนึ่ง เพราะไม่รู้จุดอ่อนของตน
สอง ถึงแม้รู้ แต่ไม่รู้จะพูดอย่างไรที่จะยังดูดี
ถ้าผมเป็นผู้สัมภาษณ์ แล้วเจอคนตอบ ประมาณว่า ผมหรือดิฉัน ไม่มีจุดอ่อน
หนึ่ง ผมรู้ได้ทันที จุดอ่อนของบุคคลนั้นคือ ความไม่รู้ ไม่รู้แม้กระทั่งจุดอ่อนของตน
สอง ผมเดาว่า ผู้ถูกสัมภาษณ์รู้จุดอ่อนของตนเป็นอย่างดี
แต่จุดอ่อนนั้น ต้องร้ายแรงมาก จนไม่สามารถเอ่ยถึงได้
ดังนั้น คำตอบ ประมาณว่า ฉันไม่มีจุดอ่อน จึงไม่ใช่คำตอบที่ดี
เพราะ สำหรับมนุษย์ปุถุชนคนทั่วไปแล้ว ยากมากที่ใครจะไม่มีจุดอ่อน
—
แล้วคำตอบที่ดีสำหรับคำถามเรื่องจุดอ่อน คือ คำตอบประเภทไหนกัน
ผมเคยเห็น ผู้เชี่ยวชาญด้านการสัมภาษณ์งาน เคยให้ไอเดีย ไว้ว่า
หนึ่ง พูดถึงจุดอ่อน ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงาน
สอง พูดถึงจุดอ่อน ที่คุณได้แก้ไขแล้ว
สาม อันนี้ยากสุดในการตอบ คือพูดถึงจุดอ่อนประเภทที่คุณสามารถแปลงมันเป็นข้อดีได้
—
จุดอ่อน ที่แปลงเป็นข้อดี ได้ เป็นอย่างไร
ยกตัวอย่างเช่น
“ผมทำงานช้านิดหน่อย เพราะผมเป็น Perfectionist (ต้องการความสมบูรณ์แบบ) ผมเลยตรวจทาน spreadsheet สองถึงสามรอบก่อนส่ง”
จุดอ่อน ลักษณะนี้ ตีความได้สองแง่
หนึ่ง คือ คุณจะใช้เวลามากกว่าคนอื่น กว่าจะส่งงานได้
สอง คือ งานของคุณไม่น่าจะมีที่ผิด
ซึ่งนี่เป็นทั้งข้อดีและข้อเสียในตัว ซึ่งผู้สัมภาษณ์น่าจะรับได้
—
และคุณจะยิ่ง เก๋า กว่านั้น ถ้าคุณเตรียมการล่วงหน้า
โดยวางแผนให้จุดอ่อนของคุณ แปลงเป็น ข้อดี ที่ผู้สัมภาษณ์ต้องการ
เช่นถ้าคุณไปสัมภาษณ์งาน ที่คุณต้องดูแลลูกค้าจำนวนมากในคราวเดียว เช่นตำแหน่ง AE ของบริษัทโฆษณา
เมื่อถูกถามถึง จุดอ่อน
คุณอาจตอบ ไปหน้าเนียนๆ ว่า
“ดิฉันเป็นคนติดนิสัย Multi-tasking คือทำหลายๆอย่างในคราวเดียว
ซึ่งนั่นทำให้ดิฉันเสียสมาธิในการทำงานหนึ่งๆให้เสร็จ
แต่ข้อดีก็คือ ดิฉันสามารถบริหาร งานหลายๆอย่างได้ในคราวเดียว ให้เสร็จทัน deadline ของแต่ละงาน”
แค่นี้ ผู้สัมภาษณ์ ก็แทบจะอุ้มคุณไปเซ็นสัญญาจ้างงานแล้ว
—
อย่างไรก็ตาม ผมขอ อย่าให้คุณโกหก
เพราะถึงแม้ คุณจะหลอกผู้สัมภาษณ์ ได้ระหว่างการสนทนา
แต่พอไปทำงานจริง คุณไม่ได้เป็นอย่างนั้น และคุณจะไม่สามารถหลอกเค้าได้ต่อไป
และนั่น คือการเสียหายทั้งสองฝ่าย ผู้สัมภาษณ์เลือกคนผิด เพราะเลือกคุณ
ส่วนคุณก็เสียเวลาไปทำงานที่คุณไม่มีทักษะ และไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ กลายเป็นเสียความเชื่อมั่นไปซะอีก
—
แล้ว บทความนี้ เกี่ยวอะไรกับการตลาด
หรือ wanat.club จะกลายเป็นบทความสอนการสมัครงานไปแล้ว
ไม่ใช่ครับ wanat.club ยังเป็นบทความการตลาด ธุรกิจ เหมือนเดิมครับ
และเรื่องที่เกริ่นมาข้างต้น เกี่ยวข้องกับการตลาดแน่นอน
—
ข้อเรียนรู้จากเรื่องการสัมภาษณ์งานข้างต้นที่ผมอยากชี้ประเด็นคือ
ในจุดอ่อนย่อมมีจุดแข็ง และในจุดแข็งย่อมมีจุดอ่อน
จุดที่แข็งที่สุด ย่อมกลายเป็นจุดที่อ่อนที่สุดให้คู่แข่งทางการตลาดโจมตีได้นั่นเอง
—
ถ้าไม่ยกตัวอย่าง คงไม่เห็นภาพ
ผมจึงขอยกตัวอย่าง McDonald กับ Burger King
มีช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์สงครามเบอเกอร์ ที่ McDonald ครองแชมป์โดดเดี่ยวทิ้งห่างคู่แข่งอื่นๆ อยู่ยาวนาน
ด้วยเหตุผลที่ว่า แมคโดนัลด์ มีบริการที่รวดเร็ว
เมื่อคุณสั่ง Big Mac คุณก็จะได้ Big Mac แทบจะทันที โดยไม่ต้องรอ
ที่แมคโดนัลด์ ถึงขนาดมีนาฬิกาจับเวลาให้คุณกด
ถ้าคุณต้องรอนานเกินเวลาที่กำหนด คุณก็จะได้รับเฟรนช์ฟรายส์ฟรี หรือได้รับออร์เดอร์นั้นฟรี ไปเลย
นี่เป็นการออกมายืนยัน ว่า แมคโดนัลด์ คือ ตัวจริงของคำว่า Fast Food
เหตุที่แมคโดนัลด์ทำเช่นนี้ได้ ก็เพราะว่าเค้ามี standardization ของกระบวนการผลิต
ทุกอย่างเป็นมาตรฐาน ถ้าสั่ง Big Mac คุณก็มั่นใจได้เลยว่า
คุณจะได้ขนมปัง 3 แผ่น เนื้อ 2 แผ่น ชีส 2 แผ่น และผักตามรูปที่เห็น ซ้อนกันมาในลำดับที่แน่นอน
—
Burger King ใช้เวลาหลายปีขบคิดหาวิธีปรับปรุง Service time ให้เร็วเท่า McDonald
แต่ก็ไม่สำเร็จ
เพราะ การเตรียมเบอเกอร์ของ Burger King นั้นมีความละเอียดกว่า
ในที่สุด Burger King ก็คิดออก ถึงวิธีที่จะต่อสู้กับ McDonald
—
ใช่ครับ ในจุดอ่อนย่อมมีจุดแข็ง และในจุดแข็งย่อมมีจุดอ่อน
Burger King ตระหนักในที่สุดว่า
กระบวนการ Standardization ของ Mcdonald ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ไม่มีใครเลียนแบบได้
กลับกลายเป็นจุดที่อ่อนที่สุดของ Mc Donald เอง
Burger King จึงจัดแจงปรับกระบวนการผลิตของตัวเองเพียงเล็กน้อย พร้อมออกสโลแกนใหม่
“Burger King – Have It Your Way”
แปลเป็นไทยก็คือ “ที่เบอร์เกอร์คิง คุณเลือกได้อย่างที่คุณต้องการ”
นี่คือ positioning ใหม่ของ Buger King ที่บอกว่า
ที่ Buger King นั้น คุณสามารถเลือกได้ว่า
คุณจะใส่ pickle เยอะหน่อย แต่ไม่ใส่ tomato
หรือจะใส่ชีสแค่แผ่นเดียว หรือกระทั่ง ไม่เอาขนมปัง
คุณเลือกได้ตามใจชอบ
—
การค้นพบครั้งสำคัญนี้ ช่วยให้ Burger King มีที่ยืน
และก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของ McDonald ตั้งแต่นั้นมา

—
ผมว่านี่ไม่ใช่แค่ตัวอย่างเดียว
เหตุการณ์พลิกมุมคิด อย่างนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในประวัติศาสตร์การตลาดทั่วโลก
ถ้าใครรู้จัก บริษัท เช่ารถ ของอเมริกา ชื่อ Avis คงคุ้นเคยกับสโลแกน “We try harder”
สโลแกนนี้เกิดจากที่ Avis ถูกทิ้งห่างในฐานะบริษัทเช่ารถอันดับสองอยู่ยาวนาน
Avis พยายามมองหาจุดอ่อนของคู่แข่งเบอร์หนึ่งอยู่ยาวนานแต่ไม่พบ
จนมาพบจุดแข็ง ในจุดอ่อน ของตนเอง
—
ทันที่ที่ Avis ยอมรับจุดอ่อนว่า ตัวเองเป็นเบอร์สอง และค้นพบข้อดีของการเป็นเบอร์สอง
Avis จึงออกแคมเปญ “We are number 2, so we try harder”
แปลเป็นไทยก็คือ “เพราะเราคือเบอร์ 2 เราจึงพยายามมากกว่า”
Avis สามารถพลิกกลับมาเป็นกำไรได้ในไม่นานหลังจากนั้น

—
ในไทยเองก็เช่นกัน
ผมไม่ดื่มเบียร์ แต่ผมยังจำสโลแกน “เบียร์สิงห์” สมัยตอนเป็นเด็กๆได้ดี
“เมืองไทยของเรา เบียร์ไทยของเรา”
โอ้โห มันไม่มีสโลแกนอะไรจะดีไปกว่านี้อีกแล้ว
ถ้าคุณเป็นคนไทย คุณต้องภูมิใจ และดื่มเบียร์ไทย จริงมั้ย
ถ้าเบียร์ช้าง เดินเข้าตลาดมา แล้วบอกว่า
เบียร์ช้าง ก็เป็นเบียร์ไทยอีกแบรนด์หนึ่ง ภูมิใจเหมือนกันนะ ดื่มช้างกันเถอะ
ไอ้แบบนั้นมันคงไม่เวิร์ค
ช้างเลย บอกว่า ช้างเป็นเบียร์ไทย ที่ภูมิใจที่ได้รับรางวัล International Award
เป็นเบียร์ไทย ที่ได้รับการยอมรับเรื่องรสชาติจากทั่วโลก
นี่แหละ ที่ทำให้คนไทยเริ่มสนใจ ว่า แล้วคนทั่วโลกเค้าดื่มเบียร์แบบไหนกัน
แล้วเบียร์ไทย ที่รสชาติระดับโลก มันเป็นยังไง
ช้างโจมตีเข้าที่จุดอ่อนที่ฝังอยู่ในใจกลางของจุดแข็งของสิงห์ ช้างจึงแจ้งเกิดขึ้นมาได้
แน่นอน เรื่องนี้ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้ช้างแจ้งเกิด แต่ผมว่าก็เป็นปัจจัยนึงที่สำคัญทีเดียว
—
เขียนอยู่คนเดียวมานาน ขอฟังบ้างได้มั้ย
ใครนึกถึงเหตุการณ์แนวๆนี้ออก ไม่ว่าจะเป็นของไทยหรือ ต่างประเทศ
มาแชร์ข้อคิด ประสบการณ์กันหน่อยครับ
—
อ้อ สุดท้ายนี้ ขอฝากเป็นข้อคิดนะครับ
คนเราทุกคนมีจุดอ่อน และจุดแข็ง ไม่แตกต่างจากแบรนด์หนึ่งๆ
จุดแข็ง ย่อมมีประโยชน์ เป็นแน่แท้ แต่ใช่ว่าไม่มีโทษ
จุดอ่อน นั้นก็ไม่ได้มีแต่โทษ ถ้าเรารู้จักใช้ประโยชน์จากมัน
ดังเช่นที่ผมเล่าเรื่อง การสัมภาษณ์งาน และ เรื่องของ Avis
แล้ว เรา ในฐานะมนุษย์คนนึง มีจุดแข็ง จุดอ่อน อย่างไร
และจะใช้ประโยชน์อย่างไรจากมัน
ผมมั่นใจครับว่า ไม่ใช่ทุกจุดอ่อนของคุณและผม ที่จะสามารถถูกแปลงเป็นประโยชน์ได้
จุดอ่อน ประเภทนี้ ถ้าเป็นผม ก็คงซ่อนมันไว้ ผมจึงขอเรียกมันว่า “จุดซ่อนเร้น”
และนั่นเป็นที่มาของชื่อบทความครับ