ท่ามกลางตลาดหุ้นที่ร้อนแรงถึงขีดสุด แต่เราก็ยังได้ยินคนบ่นว่า
“ช่วงนี้เศรฐกิจไม่ดี การค้าธุรกิจยอดขายตกต่ำ ประชาชนฝืดเคือง”
ผมได้ยินประโยคนี้ตลอดๆในช่วงนี้ ทั้งจากกูรูธุรกิจ และ ผู้ประกอบการ
ซึ่งก็คงไม่มีใครปฎิเสธได้ เพราะมันเป็นความจริงที่เรากำลังเผชิญอยู่
พอนึกถึงเรื่องนี้
ทำให้ผมอยากเอาความรู้เก่าเก็บตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์
มาเล่าให้เพื่อนที่ไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์ฟัง
อันดับแรก ผมต้องบอกก่อนว่า ช่วงเรียนปริญญาตรีนั้นผมค่อนข้าง hippie
กลางวันนอน บ่ายตื่น
เย็นไปคณะเพื่อพบปะเพื่อนที่เพิ่งเรียนเสร็จลงมาจากห้องเรียน
เพื่อที่จะไปกินข้าวเย็นกัน และเที่ยวต่อในยามค่ำคืน
ดังนั้น ผมต้องออกตัวก่อนว่า ความรู้เศรษฐศาสตร์ผม หางอึ่งและผิวเผินมาก
สำหรับเพื่อนฝูงที่เรียนเสดสาดด้วยกันมาโดยเฉพาะเพื่อนหัวกะทิที่ตั้งใจเรียน
ถ้าผมเขียนผิดพลาดประการใด หรือคุณมีความเห็นเพิ่มเติมอย่างไร
ช่วยแก้ไขให้ผมด้วยในกล่องคอมเมนท์ได้เลยนะครับ ผมจะยินดีอย่างยิ่ง
เอ้า เกริ่น นานมาก สรุปจะพูดเรื่องอะไร
แต่นแต๊น วันนี้ ขอเสนอเรื่อง Paradox of Thrift หรือ Paradox of Saving
แปลไทยว่า ความขัดแย้งอยู่ในตัวของการประหยัดอดออม
ทฤษฎีนี้ ถูกคิดค้น โดย John Maynard Keynes นักเศรษฐศาสตร์และปรัชญาชาวอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 19
โดยหลักๆ ทฤษฎีกล่าว
“การที่ประชาชนออมเงินเพิ่มขึ้นในช่วงเศรษฐกิจขาลง จะทำให้เศรษฐกิจยิ่งแย่ลงไปอีก”
ซึ่งผมขอทำให้เห็นภาพดังนี้
เศรษฐกิจแย่ –> สินค้าขายไม่ได้ –> บริษัทมีรายได้ลดลงหรือขาดทุน –> บริษัทลดการผลิต และเลิกจ้างงาน –> คนกลัวตกงาน –> คนต้องประหยัดอดออม –> คนไม่ซื้อสินค้า –> เศรษฐกิจแย่ –> สินค้าขายไม่ได้ –> บริษัทมีรายได้ลดลงหรือขาดทุน –> บริษัทลดการผลิต และเลิกจ้างงาน…….วนไปๆ
ดังนั้น ตามทฤษฎีของเคนส์
สิ่งที่ถูกต้องและควรทำ ในช่วงเศรษฐกิจขาลง คือ
ประชาชนควรออกมาใช้จ่าย, take risk มากขึ้น, อดออมน้อยลง และ invest ให้มากขึ้น
หลายคนคงบอก หืม…มันใช่เหรอ!
คือผมจะบอกว่า ตามทฤษฎีของเคนส์ มันใช่ครับ
แต่ตามความเป็นจริงมันมีสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในทฤษฎีนี้อยู่ คือ
เวลาเคนส์พูดว่า ประชาชน เค้าหมายถึง ประชาชนทุกคน
ถ้าทุกคนช่วยกันใช้จ่ายและลงทุนอย่างเคนส์ว่า เศรษฐกิจคงดีขึ้นแน่นอน
เพราะมันก็คือการ รีเวิร์ส ของสมการข้างบนนั่นเอง
แต่นั่นเป็นเพียงอุดมคติว่า ทุกคนจะมีตรรกะแบบมวลรวม
มองเห็นประโยชน์ส่วนร่วมและสามัคคีในการกระทำร่วมกัน

ซึ่งความเป็นจริงแล้ว
เราเป็นปัจเจกบุคคล มีตรรกะส่วนตัว และคิดถึงประโยชน์ส่วนตน
เราก็คงคิดได้ว่า
ถ้ามีเพียงเราคนเดียวทะลึ่งออกไปลงทุนใช้จ่ายตะบี้ตะบัน
ในขณะที่คนอื่นยังประหยัดอดออมและเศรษฐกิจก็ไม่ดีขึ้น
ดังนี้แล้ว เรานั่นแหละที่จะตายเป็นคนแรก!
อ้าว แล้วอย่างนี้เศรษฐกิจจะฟื้นได้ยังไง
อันนี้ก็คือเหตุผลที่เราต้องมีรัฐบาลครับ
รัฐบาลจะต้องออกมาใช้จ่ายและออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคประชาชน
ซึ่งเท่าที่ผมรู้ตอนนี้ รัฐบาลเราก็ใช้จนไม่มีอะไรจะเหลืออยู่ในคลังแล้วครับ เอวัง
สรุป บทความนี้ผมเขียนขึ้นมา เพื่อท้าทายเพื่อนๆที่มีความกล้าบ้าบิ่น
ให้ออกไปตะลุยช้อปปิ้ง ในภาวะเศรษฐกิจขาลงแบบนี้ครับ
ส่วนตัวผมเหรอ หะๆ ผมถือคติว่า
ในสนามรบ คนที่เก่งและกล้าหาญที่สุด ตายคนแรก
ส่วนวีบุรุษเหรอ พวกนั้นตายไปก่อนหมดแล้วครับ